• กลุ่มข่าว : สาธารณสุข

  • ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา ชี้แจงข้อกรณีเด็ก 2 ขวบ เสียชีวิตที่เป็นข่าวผ่านสื่อโซเชียล พร้อมปรับปรุงระบบบริการ
    ผู้โพสต์ : [สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธรทั่วไป
    วันที่ 22 ม.ค. 2565 (14:27 น.)

         เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 มกราคม 2565 นายแพทย์เจนวิทย์  เวชกามา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้เปิดแถลงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน กรณีเด็กอายุ 2 ขวบเสียชีวิตตามทีมีการเสนอข่าวผ่านสื่อโซเชียล ห้องประชุมเล็กตรวจเช็คสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา

         โดยนายแพทย์เจนวิทย์  เวชกามา กล่าวว่าขอแสดงความเสียใจ กับคุณแม่ของ น้องณิชาและครอบครัวผู้สูญเสีย จากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นได้ประสานไป ถึงคุณแม่ของน้องเพื่อทำความเข้าใจ ในสิ่งที่คุณแม่ และครอบครัวต้องการคำอธิบาย ซึ่งได้มีการพูดคุยเจรจาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 โดยมี นายสุพิช  สามารถ นายอำเภอ เลิงนกทา นายแพทย์ธีระพงษ์  แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดยโสธร  ท่านจ่าวพงษ์  ภูมะพานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสาขาเลิงนกทา ร่วมรับฟังตลอดการ พูดคุยเจรจาเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งทำให้ทุกคนต่างเข้าใจในเหตุการณ์ และมีข้อตกลงร่วมกันในการปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เป็นประเด็นข้อบกพร่อง ช่องว่างของระบบบริการ

          ในการพูดคุยกัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา ได้อธิบาย และความเข้าใจ หลัก ๆ ดังนี้

           เมื่อวันที่ 6 ม.ค.65 มารดาพาน้องณิชามาพบแพทย์ ด้วยอาการ อาเจียน แพทย์วินิจฉัยกระเพาะอาหารอักเสบ ให้นอนโรงพยาบาล  ให้น้ำเกลือ ยาแก้อาเจียน  ผลเลือดเป็นการติดเชื้อไวรัส  วันที่ 7 ม.ค.65 น้อง ไม่มีอาเจียน กินได้ เล่นได้ แพทย์จึงให้กลับบ้าน  วันที่ 8 ม.ค.65 มารดาพาน้องมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีไข้ แพทย์ซักประวัติ แต่ไม่ได้ตรวจร่างกาย ไม่อาเจียน  มีถ่ายเหลวแต่ลดลง เล่นได้  วัดอุณหภูมิขณะนั้น ได้ 37.4 องศาเซลเซียส ไม่มีไข้ จึงให้กลับบ้าน แนะนำให้ทานยาเดิมต่อ

           การที่น้องณิชา ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งในวันที่ 8 ม.ค.65 เนื่องจากทางโรงพยาบาลยังไม่มีระบบการให้คำแนะนำเมื่ กลับบ้าน และระบบดูแลต่อเนื่องที่ไม่ดีพอ อีกทั้งโรงพยาบาลไม่ได้กำหนดแนวทาง การดูแลผู้ป่วยที่กลับมาตรวจซ้ำ (Re-visit) ให้ได้รับการดูแล อย่างมีมาตรฐาน

          ในวันที่ 9 ม.ค.65 เวลาประมาณ 15.00 น. มารดาพาน้องณิชา พามาโรงพยาบาล ด้วยอาการซึม หายใจหอบ และมีอาการชักเกร็ง  เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ไม่มีอาการชักเกร็งแล้ว ได้มีการประเมิน สัญญาณชีพ โดยพยาบาล ในขณะนั้นแพทย์ได้ตรวจผู้ป่วย หัวใจล้มเหลวและหอบหืดกำเริบ พยาบาลซักประวัติผู้ป่วยรายอื่น ทำหัตถการ ทำให้มีระยะเวลาการรอตรวจที่นาน หลังจากนั้น แพทย์ ตรวจร่างกายได้มีคำสั่งการรักษาให้ใส่ท่อช่วยหายใจและส่งตัวเพื่อรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจน้องณิชา มีอาการชักเกร็ง วัดสัญญาณชีพไม่ได้  ทีมแพทย์จึงให้การช่วยกู้ชีพ  แต่ไม่มีการตอบสนอง 

           สาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจาก มีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งทำให้เกิดระบบต่างๆในร่างกายล้มเหลว

     

            จากเหตุการณ์ในที่ 9 ม.ค.65 ทางโรงพยาบาลตรวจสอบประเด็นเรื่องระยะเวลาในการรอตรวจ พบว่ามีความไม่เพียงพอของอัตรากำลังทั้งแพทย์และพยาบาล จึงปรับปรุงโดยการเพิ่มอัตรากำลังแพทย์ จาก 1 คน เป็น 2 คน/เวร พยาบาลจาก 3 คน เป็น 4 คน และได้ทำแนวทางการขอเพิ่มอัตรา กำลังเสริมในกรณีที่มีผู้ป่วยวิกฤติปริมาณมาก

          พฤติกรรมการบริการได้แก่ เรื่องการรับประทาน ผลไม้ มีการรับ ประทานจริง และการใช้คำพูดไม่ที่เหมาะสม  ทางโรงพยาบาลกราบขออภัย จะนำไปแก้ไข ไม่ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวอีก

           เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะทำงาน  พบว่าโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นโทรศัพท์ของโรงพยาบาล  ซึ่งมีการใช้งานเพื่อติดต่อประสานงาน แผนกต่างๆในโรงพยาบาลจริง พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทางโรงพยาบาลจะปรับปรุงแก้ไข

          ในเรื่องของพฤติกรรมบริการ ทางโรงพยาบาลจะเพิ่มช่องทางประเมิน ความพึงพอใจของผู้มาใช้บริการ

           สำหรับข้อสรุปประเด็นข้อปรับปรุงในระบบบริการ โรงพยาบาล ต้องขอยอมรับ สิ่งที่มีความบกพร่องในระบบบริการ ซึ่งจะพัฒนาคือ

         1.การจัดระบบบริการ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมกับภารงานทั้งแพทย์ และ พยาบาล โดยเฉพาะแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน

         2. การพัฒนาพฤติกรรมบริการของทีมเจ้าหน้าที่  การสื่อสารในระบบงานบริการ

         3.ระบบการรับฟังความคิดเห็นของผู้มารับบริการ เพื่อสะท้อนการบริการทุกจุดของโรงพยาบาล

          4.พัฒนาระบบการให้คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน และระบบดูแลต่อเนื่องการจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน และกำหนด

    แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่กลับมาตรวจซ้ำ (Re-visit) ที่โรงพยาบาล

          ส่วนประเด็นการเยียวยา ขณะนี้คุณแม่น้องณิชา ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากโรงพยาบาลและสำนักงานสาธาณสุข

    จังหวัดยโสธร  ในส่วนระเบียบราชการได้นำเข้ามาตรา 41 (การรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากสถานพยาบาล โดยไม่พิสูจน์ผิดถูก) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 17 ม.ค.65 ขณะนี้รอหนังสือตอบกลับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 10 โดยจะแจ้งให้คุณแม่น้องณิชา ทราบในลำดับต่อไป ...////.....