• กลุ่มข่าว : เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

  • เปิดอภิปราย การก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม
    ผู้โพสต์ : [อำเภอเลิงนกทาทั่วไป
    วันที่ 24 ม.ค. 2565 (10:38 น.)

    คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ รฟท. เปิดอภิปราย การก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม กับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานตอนกลาง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับในพื้นที่

    เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21ธ.ค.64) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายธนกร ไชยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดยโสธร กรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมกับการรถไฟ แห่งประเทศไทย เปิดอภิปราย เรื่อง การก่อสร้างทาง รถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม กับการพัฒนา เศรษฐกิจภาคของอีสานตอนกลาง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องจังหวัดยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ พร้อมทั้งนายอำเภอ ส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้านจาก อำเภอเลิงนกทา ไทยเจริญ กุดชุม และจากอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด รวม 450 คน เข้าร่วมรับฟัง ที่หอประชุมโรงเรียนเลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

    ผู้อภิปรายประกอบด้วย นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรกำกับ การกองควบคุมงานวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม ฝ่ายโครงการ พิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และนายเอกสิทธิ์ ป.สัตยารักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและออกแบบ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด

    โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม โดยในปี 2554 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมทางรถไฟสายบัวใหญ่ (ขอนแก่น) มุกดาหาร-นครพนม ต่อมาในปี 2557 ได้สำรวจออกแบบโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และ ในปี 2562 ครม.ได้อนุมัติให้ทำการก่อสร้าง และขยายเป็น ทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม ปี 2563 ได้สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนและปี 2564 ประกาศบังคับใช้ พรก.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน

    สำหรับแนวเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จะผ่านพื้นที่ จังหวัด ขอนแก่น 1 อำเภอ 4 ตำบล ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร/จังหวัดมหาสารคาม 3 อำเภอ 11 ตำบล ระยะทาง 68.7 กิโลเมตร/จังหวัด ร้อยเอ้ด 8 อำเภอ 24 ตำบล ระยะทาง 106.3 กิโลเมตร/จังหวัดยโสธร 1 อำเภอ 4 ตำบล ได้แก่ตำบลห้องแซง สามัคคี กุดเชียงหมี กุดแห่ ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร /จังหวัดมุกดาหาร 3 อำเภอ 13 ตำบล ระยะทาง 60.8 กิโลเมตร และจังหวัดนครพนม 3 อำเภอ 17 ตำบล ระยะทาง 77.8 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง /ทางลอดทางรถไฟ 245 แห่ง/ทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี มีการเวนคืนที่ดินตามแนวเส้นทางใน 8,439 แปลง เนื้อที่ 18,479 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,618 หลัง ไม้ยืนต้น 6,711 แปลง ใช้งบประมาณ ค่าก่อสร้างตลอดเส้นทาง จำนวน 55,462.ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 10,080.ล้านบาท รวม 66,848.ล้านบาท

    พร้อมนี้ในการอภิปราย ได้กล่าวถึงโอกาสและประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชน ในพื้นที่จะได้รับ เช่น การขนส่งสินค้า การจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ตามสถานีรถไฟ การสร้างงาน การสร้างงานบริการ งานอำนวยความ สะดวกต่างๆ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน ระหว่างการรถไฟ แห่งประเทศไทยกับจังหวัดยโสธร เพื่อเตรียมรับการเปิดใช้เส้นทาง เพื่อให้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่น และยังมีการตอบ คำถามข้อสงสัย จากผู้ร่วมอภิปราย เกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่ส.ป.ก./พื้นที่นิคมฯ /พื้นที่ ท.ค./พื้นที่ น.ส.ล./ที่สาธารณะประโยชน์และพื้นที่ป่าไม้ จนเป็นที่เข้าใจ

    ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถ รองรับผู้โดยสาร ตลอดเส้นทาง โดยในปี 2569 จำนวน 3.8 ล้านคน ปริมาณสินค้า 7 แสนตันต่อปี และในปี 2599 จำนวนผู้โดยสาร 8.3 ล้านคน ปริมาณสินค้า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะสร้างอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ให้กับท้องถิ่นและประเทศไทยได้ด้วย